ตะไคร้ต้น ๑

Cinnamomum glaucescens (Nees) Hand.-Mazz.

ชื่ออื่น ๆ
กะเพราต้น (นครราชสีมา); ข่าต้น (ทั่วไป); พลูต้น (เชียงใหม่)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ เปลือกสีเทาถึงสีน้ำตาล เป็นร่องตามยาว ตาใบที่ปลายยอดรูปไข่ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมถึงรูปทรงรี เมื่อแก่จัดสีม่วงอมแดงหรือสีดำอมม่วง มีกลีบรวมเป็นรูปถ้วยติดทนที่โคนผล แข็ง ขอบเรียบหรืออาจหยักเป็นพู เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตะไคร้ต้นชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๕ ม. เรือนยอดรูปทรงค่อนข้างกลม เปลือกสีเทาถึงสีน้ำตาล เป็นร่องตามยาว เปลือกในสีน้ำตาลอ่อน กิ่งเล็กเรียว รูปทรงกระบอก หนา ๒-๔ มม. กิ่งอ่อนสีออกเขียว มีขนประปรายถึงหนาแน่น กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง สีเทาอมดำ ตาใบที่ปลายยอดรูปไข่ ยาว ๒-๒.๘ มม. ปลายแหลม มีขนกำมะหยี่

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๗ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมสั้น บางครั้งมนกลม โคนรูปลิ่มกว้างหรือกึ่งมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรือกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเมื่อเป็นใบอ่อนมีขนหนาแน่น ใบแก่เกลี้ยง ยกเว้นบริเวณเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบมีขนประปรายหรือขนหนาแน่น เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง ตามซอกเส้นแขนงใบด้านล่างมักมีตุ่มใบลักษณะเป็นรูปโดม เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นไม่ชัด ก้านใบเล็กเรียว ยาว ๑-๓ ซม. มีขนหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายยอด ยาว ๔.๕-๑๒ ซม. มีขนนุ่มถึงขนกำมะหยี่สีเหลืองอ่อนหนาแน่น ก้านช่อดอกแข็ง ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ก้านช่อและแกนกลางช่อมีขนอุยสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน ใบประดับรูปคล้ายใบ ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว ๑.๓-๑.๖ มม. ปลายแหลม มีขนกำมะหยี่ ร่วงง่าย ดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม มี ๑๒-๒๐ ดอก กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๓-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๖ แฉก แต่ละแฉกรูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแหลม มีขน เกสรเพศผู้ ๙ เกสร ยาว ๑.๓-๒ มม. เรียงเป็น ๓ วง เกสรวงนอกและเกสรวงกลางโคนก้านชูอับเรณูไร้ต่อม อับเรณูหันเข้า ส่วนเกสรวงในโคนก้านชูอับเรณูมีต่อมแบบมีก้าน ๒ ต่อม อับเรณูหันออก อับเรณูมี ๔ ช่อง แตกแบบฝาเปิดทางด้านเดียวกัน แยกเป็นด้านบน ๒ ช่อง ด้านล่าง ๒ ช่อง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ ยาว ๑-๑.๒ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายจาน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมถึงรูปทรงรี กว้าง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๐.๘-๒ ซม. เมื่อแก่จัดสีม่วงอมแดงหรือสีดำอมม่วง มีกลีบรวมรูปถ้วยติดทนที่โคนผล กว้างประมาณ ๘ มม. แข็ง ขอบเรียบหรืออาจหยักเป็นพู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๙-๑.๕ ซม. ก้านผลยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. เมื่อแก่มีสีม่วงเข้ม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตะไคร้ต้นชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง พบตามป่าดิบและป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐๐-๒,๑๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน จีนตอนใต้ เวียดนามตอนเหนือ และลาว ออกดอกเดือนมกราคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน

 ตะไคร้ต้นชนิดนี้เดิมเรียกกะเพราต้น.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะไคร้ต้น ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cinnamomum glaucescens (Nees) Hand.-Mazz.
ชื่อสกุล
Cinnamomum
คำระบุชนิด
glaucescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Nees von Esenbeck, Christian Gottfried Daniel
- Handel-Mazzetti, Heinrich Raphael Eduard
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Nees von Esenbeck, Christian Gottfried Daniel (1776-1858)
- Handel-Mazzetti, Heinrich Raphael Eduard (1882-1940)
ชื่ออื่น ๆ
กะเพราต้น (นครราชสีมา); ข่าต้น (ทั่วไป); พลูต้น (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต